เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คลายข้อกังวลประชาชน เกรงปลดล๊อกเฟส 2 แล้วการแพร่ระบาดกลับมาอีก

             พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประจำวันที่ 16 พ.ค. 63 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (ช่วงเวลาที่ 34:00 – 44:00)

ข้อกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องของการคลายล๊อก ระยะที่ 2 มีข้อกังวลว่าหากปลดล็อกเฟส 2 แล้วมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐมีมาตรการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าหรือไม่ อย่างไร

               พล.อ.สมศักดิ์ฯ แจง ที่ประชุม ศบค. อนุมัติให้มีการผ่อนคลายระยะที่ 2 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการประเมินระยะที่ 1 ทำไว้ค่อนข้างดีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเป็นลำดับ รวมทั้งความร่วมมือของประชาชนทั่วไปอยู่ในเกณฑ์สูงมาก เป็นผลดีที่ทำให้การผ่อนคลายในระยะที่ 2 มีออกมา เป็นข้อกำหนดฉบับที่ 7 : ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 7) เรียบร้อยแล้ว

img

               การผ่อนคลายในระยะที่ 2 จะเป็นกิจกรรม/กิจการ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่มีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง การผ่อนปรนเพื่อให้การดำรงชีวิตมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไป

               เพราะฉะนั้นทุกๆ ระยะ ไม่ว่าจะเป็นระยะที่ 2, 3, 4 ที่จะดำเนินต่อไปนั้น ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับแต่เป็นความเสี่ยงที่เราได้ใคร่ครวญแล้วว่า ต่อให้มีความเสี่ยงก็ยังอยู่ในความสามารถที่จะควบคุมได้ และสาธารณสุขก็ยังมีขีดความสามารถรองรับความเสี่ยงนี้ได้ และหากพบกิจกรรม/กิจการใด ก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ สิ่งที่เราต้องทำก็คือ สำรวจว่าจะต้องปิดเป็นจุดหรือเป็นรายกิจกรรม ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของตัวเลขการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ กิจกรรมที่เปิดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 1 หรือ กลุ่ม 2 ถ้าพบว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อก็สามารถปิดได้หรือเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นได้

กรณีปลดล็อกเฟส 2 แล้ว ยังสามารถเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นปกติหรือไม่ หรือเดินทางไปแล้ว จำเป็นต้องกักตัวหรือไม่

               พล.อ.สมศักดิ์ฯ ย้ำว่า มาตรการบังคับที่ออกมาควบคู่กับการผ่อนคลายในเฟส 2 ยังคงมี 3 มาตรการหลัก คือ 1) การเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก/น้ำ/อากาศ ยังคงมีความเข้มข้นในระดับเดิม นั่นหมายความว่ายังคงป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อที่เกิดจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่อนุญาตให้เครื่องบินพาณิชย์เข้ามา 2) การปรับระยะเวลาเคอร์ฟิวหรือการออกนอกเคหสถานในเวลา 23.00 – 04.00 น. ที่สำคัญคือ 3) ยังเชิญชวนให้ชะลอการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดอยู่ ทั้งนี้ ไม่ได้ห้าม แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางเมื่อไปถึงปลายทาง หากจังหวัดนั้นมีมาตรการที่เข้มข้น ก็ต้องปฏิบัติตามที่กำหนด

img

               เมื่อถามว่า มีข้อเสนอแนะจากประชาชนอยากให้ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็นเวลา 03.00 น. ได้หรือไม่ เพราะมีประชาชนที่จะต้องขายของในตอนเช้าเพื่อที่จะไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของเวลา พล.อ.สมศักดิ์ฯกล่าวว่า ขอรับไว้เป็นข้อพิจารณาในระยะต่อไป ที่จะลดระยะเวลาเคอร์ฟิวลง โดยจะดูตามสถานการณ์อีกครั้ง

มาที่เรื่องข้อกำหนด ที่มีการกำหนดว่าให้คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และร้านทำเล็บ ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะการเสริมความงาม เรือนร่างและผิวพรรณ ไม่รวมถึงการเสริมความงามบริเวณใบหน้า ข้อสอบถามจากภาคประชาชนทำไมในเมื่อทำฟันทำทันตกรรมได้ ทำไมถึงไม่อนุญาตให้เสริมความงามบริเวณใบหน้า

               พล.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าวว่า ข้อสงสัยเรื่องสถานเสริมความงามที่ให้เปิดได้แต่ยังไม่รวมถึงการทำที่เกี่ยวกับใบหน้านั้น เนื่องจากเรายอมเสี่ยงในบางเรื่องเพื่อชดเชยความสะดวกสบายของประชาชนและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางตัว กรณีของการทำฟันทำทันตกรรมเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแต่ยังจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งการเสริมความงามนั้นเราก็ยอมแต่ไม่ใช่ในเรื่องของใบหน้าเพราะยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากดวงตาได้ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่เราขอให้มีการล้างมือบ่อย ๆ และอย่าจับใบหน้า รวมถึงการจำกัดเวลาต่อกิจกรรมนั้น ๆ ให้ใช้เวลาให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ตนจะขอรับไว้พิจารณาในการผ่อนคลายในเฟส 3 ซึ่งถ้าหากหมออนุญาตตนก็ไม่มีปัญหา

คำถามเพิ่มเติมจากสำนักข่าวไทยรัฐทีวี ที่บอกว่า มีประชาชนแจ้งและร้องเรียนเข้ามาว่า มีร้านค้า (ขออนุญาตไม่บอกชื่อ) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ไม่มีมาตรการป้องกัน ไม่มีการตั้งจุดตรวจอุณหภูมิหรือเว้นระยะห่าง ทาง ศบค. รวมถึงรัฐบาล และ กทม. จะดำเนินการอย่างไร

               พล.อ.สมศักดิ์ฯ กล่าวว่า หลังไมค์คงต้องขอชื่อร้าน เพราะว่าเรามี จนท.ที่จะไปตรวจสอบอยู่แล้ว ในทุกๆมาตรการที่ออกไป ทั้งหน่วยงานความมั่นคง จนท.สาธารณสุข หรือ จนท.ของ กทม. หรือจนท. ของจังหวัดที่แต่งตั้งขึ้น เพราะฉะนั้นทุกๆ มาตรการที่เราออกไปก็จะมีคนไปตรวจ อาจจะไม่ทั่วถึงบ้าง เพราะ จนท.มีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือว่ามาตรการที่เราจะออกไป มาตรการ กำกับกิจกรรม/กิจการ ที่ผ่อนคลายในเฟส 2 ก็ขอให้ปฏิบัติตามโดยอย่างเคร่งครัด เมื่อ จนท.ไปตรวจ ถ้าพบความบกพร่องครั้งแรกอาจจะตักเตือนหากไม่ปรับปรุง ก็เป็นไปได้ที่จะปิดเป็นจุดๆ ไป หรือถ้ากิจกรรมเหล่านั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นที่แพร่ระบาดของโรคเป็นวงกว้างก็จำเป็นที่จะต้องปิดกิจกรรมเหล่านั้นต่อไป จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

               สุดท้ายขอให้ประชาชนมั่นใจว่าก่อนที่เราจะผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมใด ในแต่ละเฟส เราคำนึงถึงอย่างน้อย 2 ปัจจัย คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเราเอง เทียบเคียงกับสถานการณ์ในต่างประเทศ เนื่องจากมีหลายประเทศที่ผ่อนคลายเร็ว แล้วทำให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นการผ่อนปรนจะทำด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญที่สุดก็คือความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จากประชาชนทุกคน จากผู้ประกอบการ ผู้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ก็จะต้องให้ความร่วมมือ ถ้าความร่วมมือดีกิจกรรมมีความเสี่ยงก็ยังสามารถทำให้มีความสมดุลได้

แชร์เลย