การประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๗ นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อสาระสำคัญ และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติฯ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ รวมถึงรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยมีผู้บริหารของ ๘ จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กอ.รมน.จังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมฯ ในโอกาสนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาความมั่นคงที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหาด้านยาเสพติด โดยเฉพาะการที่พื้นที่กลายเป็นทางผ่านของขบวนการฯ ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสพและผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาด้านสาธารณภัย ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ ปัญหาด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปัญหาการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มพลังมวลชน และปัญหาด้านความมั่นคงชายแดน พร้อมทั้ง ได้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ และงานด้านความมั่นคงในระดับจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)

นอกจากนี้ สมช. ยังได้มีการประชุมหารือร่วมกับกองทัพภาคที่ ๒ เพื่อขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงาน โดย สมช. ได้เน้นย้ำประเด็นความมั่นคงที่สำคัญ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติฯ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกองทัพภาคที่ ๒ ได้แก่ การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ การเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน และการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ ๒ มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะการเผยแพร่ชุดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติต่อไป นอกจากนี้ ได้ร่วมประชุมเชิงวิชาการเพื่อหารือการเสริมสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงระหว่าง สมช. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการสนับสนุนงานด้านความมั่นคง อาทิ การพัฒนาและใช้ประโยชน์อากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือ โดรน (Drone) ประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงสถานการณ์สำคัญที่ท้าทายและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วย

กองนโยบายและยุทธศาตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย