การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในการจัดทำแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

       เมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในการจัดทำแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายภพหล้า ปิยะปานันท์ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง และผู้อำนวยการกองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิด
       การจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนของแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย หน่วยงานระดับปฏิบัติ และภาคประชาชนชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันพร้อมที่จะเผชิญปัญหาและสามารถบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยงานสัมมนาฯ มีกิจกรรม ดังนี้


       ๑. กิจกรรมการอภิปราย โดย ผู้แทน สมช./กชต. ได้บรรยายแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๖๖ –๒๕๗๐) และแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ และผู้แทนตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้ง ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ได้บรรยายถึงสภาพแวดล้อมและปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภาคเหนือ ในประเด็นปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และประเด็นปัญหายาเสพติด ตลอดจนนายดนัย มู่สา ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนงานเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บรรยายแนวคิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความเห็นต่อประเด็นสังคมพหุวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตในพื้นที่ภาคเหนือ

       ๒. กิจกรรมลงพื้นที่ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้เดินทางเยี่ยมเยียนโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับศึกษาตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการจัดทำแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่จะเป็นจุดร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน ที่เกิดขึ้นมาจากมุมมองที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง

       ๓. กิจกรรมระดมสมองเพื่อสร้างจุดร่วมการทำงานระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยได้หารือแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมทั้งจัดทำเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ๓ ด้าน คือ ด้านการศึกษาที่ควรสนับสนุนให้มีการศึกษาทางเลือก ด้านสิทธิสถานะ หน่วยงานของรัฐควรเร่งบูรณาการในการแก้ปัญหาให้ชัดเจน และด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควรมีการกำหนดแนวทางการดูแลจัดสรรที่ดินเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ สมช. จะได้รับความเห็นดังกล่าวไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย