การประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา

       เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๗ นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อสาระสำคัญ และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติฯ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ รวมถึงรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยมีผู้บริหารของ ๑๓ จังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนราชการภายในจังหวัดสงขลา ตลอดจนหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมฯ ในโอกาสนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาความมั่นคงที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ๑) ปัญหาด้านความมั่นคงทางทะเล อาทิ การรุกล้ำน่านน้ำไทยของเรือประมงต่างชาติ การเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นผลจากการกัดเซาะชายฝั่งและการทำประมงพื้นบ้าน สาธารณภัยและอุบัติภัยทางทะเล รวมถึงปัญหาอาชญากรรมทางทะเล ๒) ปัญหาด้านยาเสพติด โดยเฉพาะการฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ และ ๓) ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้ง ได้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ และงานด้านความมั่นคงในระดับจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ซึ่ง สมช. จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมไปใช้ประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในภาพรวม เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านความมั่นคง รวมถึงเป็นข้อมูลประกอบการทบทวน/ปรับปรุง การขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงของ สมช. ในระยะต่อไป

       นอกจากนี้ สมช. ยังได้มีการประชุมหารือการเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางทะเลร่วมกับกองกำกับการ ๗ กองบังคับการตำรวจน้ำ เพื่อผลักดันประเด็นสำคัญของนโยบายและแผนฯ ที่ ๔ การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของทางทะเล ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติฯ อีกทั้ง ได้มีการประชุมหารือบทบาทและการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติฯ ร่วมกับทัพเรือภาคที่ ๒ เพื่อขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงาน โดย สมช. ได้เน้นย้ำประเด็นความมั่นคงที่สำคัญ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติฯ อาทิ การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ การเสริมสร้างความมั่นคงชายแดนและความมั่นคงทางทะเล และการรักษาดุลยภาพระหว่างประเทศ รวมถึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนี้ สมช. กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมประชุมเชิงวิชาการเพื่อหารือการขับเคลื่อนการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความมั่นคง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ สถานการณ์ที่มีแนวโน้มกระทบความมั่นคงในอนาคต ความท้าทายด้านความมั่นคงทะเลของไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC และแนวทางการเสริมสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล (Maritime Domain Awareness : MDA)

กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย