การประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง ณ จังหวัดอุดรธานี

       เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ นายรัชกรณ์ นภาพรพิพัฒน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในระดับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง ณ จังหวัดอุดรธานี โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อสาระสำคัญ และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติฯ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ รวมถึงรับฟังสภาพปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยมีผู้บริหารของ ๑๒ จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนกลาง ส่วนราชการภายในจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมฯ ในโอกาสนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาความมั่นคงที่สำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ปัญหาด้านยาเสพติด โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ ปัญหาด้านความมั่นคงชายแดน ปัญหาการลักลอบเข้าเมือง การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาด้านสาธารณภัย รวมถึงปัญหาด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เชื่อมโยงสู่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้ง ได้ชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ และงานด้านความมั่นคงในระดับจังหวัด ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ซึ่ง สมช. จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมไปใช้ประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงในภาพรวม เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านความมั่นคง รวมถึงเป็นข้อมูลประกอบการทบทวน/ปรับปรุงการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงของ สมช. ในระยะต่อไป
       นอกจากนี้ สมช. ยังได้มีการประชุมหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ โดยได้แลกเปลี่ยนแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยและลาว สถานการณ์ที่มีแนวโน้มกระทบต่อความมั่นคงของไทยและอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง รวมถึงประเด็นห่วงกังวลของไทย อีกทั้ง ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานศุลกากรภาคที่ ๒ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดน บริเวณแม่น้ำโขง และประเทศรอบบ้าน ที่กระทบต่อความมั่นคง โดย สมช. ได้เน้นย้ำการดำเนินงานตามนโยบายและแผนความมั่นคงที่ ๓ การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า สังคม และระบบเทคโนโลยีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงบริเวณด่านชายแดนของไทย ตลอดจน ได้ร่วมประชุมเชิงวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความมั่นคงร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือระหว่างประเทศในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงสถานการณ์สำคัญที่ท้าทายและอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศ

กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย