การประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

       สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน และได้รับเกียรติจาก พันเอก สมหมาย บุษบา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จังหวัดนครพนม (ฝ่ายทหาร) ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ในการเข้ารับฟังการชี้แจงฯ พร้อมด้วยหน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดนครพนม และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายสุรศิษฐ์ อินทกรอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (โปรแกรม Zoom Cloud Meetings) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานส่วนราชการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีก ๑๙ จังหวัด
       สืบเนื่องจาก สมช. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) เพื่อตอบโจทย์สังคมไทยที่มีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีควาหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิต โดยจุดมุ่งเน้นส่งเสริมให้คนในชาติได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและการพัฒนาศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ การบริหารจัดการบนความหลากหลายด้วยแนวทางสันติวิธี ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ จึงนำมาสู่การประชุมชี้แจงแผนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกภูมิภาครับทราบ เพื่อนำไปสู่การร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในภาพรวมของทั้งประเทศ
       ในการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ ได้รับข้อคิดเห็นที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ไปสู่การปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิ (นายดนัย มู่สา) ผู้แทนศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (นายอภินันท์ ธรรมเสนา) ผู้แทนภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ผศ.ดร.กีรติพร จูตะวิริยะ) และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นายชัยยุทธ วัยเหนิดลื้อ) ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การผลักดันการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน โดยวางกลไกการทำงานให้มีความสอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ และส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงาน รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูล ทั้งส่วนของข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีความเป็นปัจจุบันและสามารถเชื่อมโยงกันได้ และผ่านการเรียนการสอนเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมตั้งแต่เยาวชน เพื่อให้องค์ความรู้ดังกล่าวมาช่วยขจัดอคติทางวัฒนธรรม ทั้งทางด้านกายภาพ ความคิด และภาษา ตลอดจนควรให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมและภาษาถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและปัญหาการทับซ้อนการใช้ประโยชน์ที่ดินของกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนในชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย