การชี้แจงนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎร

       เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ ในคราวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๒๗ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ชั้น ๒ ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เข้าชี้แจงในวาระรับทราบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ และร่างแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ (ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๓ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๖) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๖


(รูปภาพอ้างอิงจาก : TPchannel)

       นายฉัตรชัยฯ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติฯ ได้กล่าวว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกยุคสมัยให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นกรอบทิศทางหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ จากนั้นให้นำเสนอรัฐสภาเพื่อทราบ

       นโยบายฯ ได้จัดทำขึ้น เพื่อคลี่คลายเงื่อนไขของปัญหา โดยกำหนดเป้าหมายในการยุติเหตุรุนแรงอย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ ควบคู่กับการลดเงื่อนไขของปัญหา โดยยังคงยึดมั่นและรักษาแนวทางการดำเนินการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เน้นแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี และหลักสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการบนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม ตลอดจน การให้ความสำคัญกับการบูรณาการการขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพและประสานสอดคล้อง โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย และมีสันติสุข บนพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ซึ่งการบรรลุผลตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ข้างต้นนั้น ได้กำหนดวัตถุประสงค์ รวม ๖ ข้อ และแนวนโยบายรองรับ ๒๗ ประเด็น รวมทั้งกำหนดกลไก ทั้งในระดับนโยบาย ระดับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และระดับการปฏิบัติในพื้นที่

       เมื่อผ่านการรับทราบของรัฐสภาแล้ว จะได้มีการชี้แจงให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อใช้นโยบายฉบับนี้ไปสู่การขับเคลื่อนงานตามแนวทางดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยจะนำสู่การจัดทำยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี โครงการ กิจกรรม และงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้ง ผลักดันการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ และการประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป


(รูปภาพอ้างอิงจาก : TPchannel)

       ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบนโยบายฯ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความเห็นในภาพรวมว่า นโยบายฯ มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ มีแนวทางการดำเนินงานที่รอบรับต่อนโยบาย ซึ่งในระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญกับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และให้ผลักดันการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ อาทิ ยาเสพติด กลุ่มผู้มีอิทธิพล การศึกษา ความยากจนและเศรษฐกิจ พร้อมทั้ง ให้ความสำคัญกับการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ
บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการพิจารณาแนวทางการกระจายอำนาจที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมทั้ง ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ และการไม่เลือกปฏิบัติ โดยควรมีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ตลอดจน ควรมีการขับเคลื่อนงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และประสานสอดคล้อง


(รูปภาพอ้างอิงจาก : TPchannel)

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย