การขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) “เมื่อโลกปรับ และภัยเปลี่ยน: ร่วมเดินหน้า ๑๗ นโยบาย มุ่งสู่ประเทศไทยมั่นคงอย่างยั่งยืน”

       วันนี้ (14 ก.ค. 66) พลเอก สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) ไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้ชื่องาน “เมื่อโลกปรับ และภัยเปลี่ยน: ร่วมเดินหน้า 17 นโยบาย มุ่งสู่ประเทศไทยมั่นคงอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพฯ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการรับรู้และส่งเสริมความเข้าใจนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข”

       เลขาธิการ สมช. ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงบริบทความมั่นคง ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย จึงให้จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติฯ เพื่อเป็นกรอบทิศทางดำเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคาม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 มุ่งเน้นกำหนดทิศทางพุ่งเป้าหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่มีผลกระทบรุนแรงและความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็วและทันท่วงที โดยวางรากฐานความมั่นคงของประเทศอยู่ที่สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ตลอดจนการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานความมั่นคง

       นโยบายฯ ฉบับนี้กำหนดไว้ 17 เรื่องที่ต้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ การปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการชายแดนและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล การบริหารจัดการปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การป้องกันการก่อการร้ายและภัยคุกคามทางไซเบอร์ การรักษาดุลยภาพระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพการเตรียมพร้อมแห่งชาติและวิกฤตการณ์ระดับชาติ

       การจัดงานได้มีการแลกเปลี่ยนให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนร่วมกัน 5 ปีข้างหน้า ในช่วงแรกแบ่งเป็นการอภิปรายของหน่วยงานภาครัฐ เรื่อง “เดินหน้านโยบายความมั่นคงไทย รับมือความท้าทายใหม่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ให้ความสำคัญกับบทบาทภาครัฐในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ในช่วงที่สองเป็นการอภิปรายของภาคีเครือข่ายนอกภาครัฐ เรื่อง “อนาคตความมั่นคงไทยในมือของทุกคน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกใหม่” ที่ได้มุมมองและข้อเสนอแนะการเสริมสร้างความมั่นคงแบบองค์รวม รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนการเตรียมพร้อมและรับมือสถานการณ์/บริบทแวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบันและอนาคตการยกระดับระบบงานข่าวกรองแห่งชาติ และการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ตำบลเป้าหมาย

       เลขาธิการ สมช. เน้นย้ำว่า ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานความมั่นคงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมและบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง สื่อมวลชน และที่สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน โดยหน่วยงานของรัฐ จังหวัด ชุมชนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญให้นโยบายฯ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และศักยภาพในพื้นที่

กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย