ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ “ยกระดับ ‘ศรชล.’ ก้าวสู่เออีซี รับแผนความมั่นคงปี ๕๘ – ๖๔”

img

ยกระดับ ‘ศรชล.’ ก้าวสู่เออีซี รับแผนความมั่นคงปี ๕๘ – ๖๔

ตะลุยกองทัพ : ยกระดับ ‘ศรชล.’ ก้าวสู่เออีซี รับแผนความมั่นคงปี ๕๘ – ๖๔

                  การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ในปี ๒๕๕๘ ไม่ได้มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีส่วนสำคัญต่อมิติทางด้าน “ความมั่นคง” ซึ่งหมายรวมถึงความมั่นคงเพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลด้วย โดยเฉพาะบริบททางความมั่นคงที่เปราะบางจากความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่มีมหาอานาจจีน และหลายชาติในอาเซียนเข้าไปเกี่ยวข้อง
                  ขณะที่โครงสร้างหลักในการบูรณาการภารกิจในการรักษาความมั่นคงทางทะเลของไทยเป็นหน้าที่ของ “ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” หรือ “ศรชล.” ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ขึ้นตรงต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
                  ศรชล. มีภารกิจเป็น “ศูนย์กลาง” การดำเนินกิจการทางทะเลในทุกๆ ด้านระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับงานทางทะเลเพื่อให้การปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ซ้าซ้อน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างต่อเนื่อง โดยมี “กองทัพเรือ” เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ช่วยเหลือ และสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยต่างๆ
                  ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๒ โดยให้สมช. ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์เป็น “แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔” เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน ในการก้าวสู่การเป็นชาติทะเล (Maritime Nation) อย่างแท้จริง
                  นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับ “ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” เป็น “ศูนย์อำนวยการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีบทบาทเป็นองค์กรในการอานวยการ กำกับการ และประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับหน่วยราชการอื่นๆ และระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
                  ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. ได้เป็นประธานการประชุม ศรชล. ครั้งที่ ๑ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมพัทยา ดิสคัฟเวอรี่ บีช เมืองพัทยา ร่วมกับเลขาธิการสมช., ผอ.ศรชล. เขต ๑, ๒ และ ๓ และหัวหน้าส่วนราชการใน ศรชล.
                  พล.ร.อ.ธนะรัตน์ ย้ำถึงความสำคัญของการประชุมว่า เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติงานของ ศรชล. ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการรองรับแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔
                  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ส่วนราชการ และภาคเอกชนได้เข้าใจยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔ มากขึ้น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองทัพเรือ จึงได้ร่วมกันจัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔) ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ
                  โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และจะจัดให้มีการอภิปรายกลุ่ม เรื่อง “แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างไร”
                  มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายพรชาติ บุนนาค รองเลขาธิการ สมช. ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายและองค์กรในการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ อนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล
                  การประชุมดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญทั้งมิติด้านความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก ๑๒ ล้านล้านบาทต่อปี ในปี ๒๕๕๓ เป็น ๒๔ ล้านล้านบาทต่อปี ในปี ๒๕๕๗ ซึ่งนับได้ว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ทางเศรษฐกิจทั้งของประเทศไทย และประชาคมอาเซียน ที่จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี.

 

โดย…ทีมข่าวความมั่นคง
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก การเมือง : ทัศนะ-บทความ
วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗

แชร์เลย