สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศภายหลังการระบาดของไวรัส COVID-19

img

               บทความนี้มีความมุ่งหมายที่จะประเมินสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศและผลกระทบต่อไทยภายหลังการระบาดของไวรัส COVID-19 สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ในกว่า 200 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่จัดเป็นภัยความมั่นคงรูปแบบหนึ่งซึ่งปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ทั้งนี้ การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อมิติทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีแนวโน้มว่าหลายประเทศจะให้ความสำคัญกับกิจการภายในประเทศมากขึ้นจากแนวคิดชาตินิยม ท่ามกลางความล้มเหลวในการแก้ปัญหาขององค์การระหว่างประเทศและ ความร่วมมือระดับภูมิภาค นอกจากนี้จีนมีแนวโน้มก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในการเมืองโลกมากขึ้น

               อย่างไรก็ดี ในระยะยาวสถานการณ์ COVID-19 อาจเป็นปัจจัยช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางด้าน สาธารณสุขของโลกและเป็นแรงหนุนให้ประชาคมระหว่างประเทศหันมาให้ความสำคัญกับภัยโรคอุบัติใหม่ อย่างจริงจัง ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานโลก พบว่าการแพร่ระบาดส่งผลให้ เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก โดยหลายประเทศมีแนวโน้ม เน้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพา ประเทศใดประเทศหนึ่งไปยังหลายประเทศมากขึ้น ในส่วนของไทยจะเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ในวงกว้าง และจะได้รับผลกระทบจากจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่อาจพยายามเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ กับไทยเพิ่มขึ้นในขณะที่ชาติตะวันตกกำลังประสบกับปัญหาการระบาด

               นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 อาจส่งผลให้ผู้ไม่หวังดีก่อเหตุด้านความมั่นคงอื่น ๆ ในขณะที่ รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับปัญหาโรคระบาด ซึ่งไทยมีความจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับ ผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

1. ภูมิหลัง

               เมื่อ 31 ธันวาคม 2562 ทางการจีนประกาศการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) ซึ่งมีศูนย์กลางการแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น (Wuhun) มณฑลหูเป่ย์ (Hubei) ซึ่งไม่สามารถระบุต้นทางและสาเหตุการระบาดของเชื้อได้โดยผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ซึ่งมีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับโรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (SARS) ที่ระบาดในปี 2546 และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) ที่ระบาด ในปี 2555

               ในห้วงเดือน มกราคม – มีนาคม 2563 กว่า 200 ประเทศยืนยันพบผู้ติดเชื้อในประเทศ ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ (Human-to-human transmission) และได้มีการประกาศคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า COVID-19 (Coronavirus disease starting in 2019) พร้อมประกาศให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็น “การระบาดใหญ่” (Pandemic) ตามหลักการเบื้องต้น 3 ประกาศ คือ 1) ไวรัสสามารถก่อให้เกิดการป่วยจนถึงเสียชีวิต 2) มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน และ 3) การแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก
img

2. แนวโน้มความมั่นคงโลกหลัง COVID-19

2.1 มิติด้านภูมิรัฐศาสตร์และระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

2.1.1 การกลับมาของกระแสชาตินิยม (The Rise of Nationalism)

              ♦ มาตรการรับมือวิกฤติ COVID-19 ในหลายประเทศ อาทิ การปิดพรมแดน การยกเลิกวีซ่า การห้ามนักท่องเที่ยว/บุคคลต่างชาติจากพื้นที่แพร่ระบาดเข้าประเทศสะท้อนแนวคิดชาตินิยม กล่าวคือ 1) ท่ามกลางภาวะวิกฤต ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งพารัฐบาลของตนมากกว่าองค์การระหว่างประเทศ 2) โรคระบาดชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chains) ประเทศที่มีกำลังการผลิตเวชภัณฑ์เองเลือกที่จะระงับการส่งออกเวชภัณฑ์ไปยังประเทศอื่น และ 3) เกิดกระแสเรียกร้องให้ยกระดับมาตรการควบคุมชายแดน การปกป้องทางการค้า (Protectionism) และการพัฒนากำลังการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการพึ่งพาต่างชาติ

               ♦ รัฐบาลหลายประเทศมองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 มีแนวโน้มว่าประเทศนั้น ๆ จะสำรองวัคซีนเพื่อให้เพียงพอต่อการรักษาพลเมืองของตนก่อน จากนั้นจึงจัดส่งหรือจำหน่ายวัคซีนไปยังประเทศอื่น ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัทผลิตยาในออสเตรเลียคิดค้นและผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1) ได้เป็นแห่งแรก พบว่ารัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้สำรองวัคซีนดังกล่าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศก่อน จากนั้นจึงส่งวัคซีน H1N1 ไปยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) เลือกที่จะสำรองวัคซีน H1N1 เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศก่อนที่จะบริจาคไปยังประเทศอื่น

               ♦ ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาขององค์การระหว่างประเทศ (Breakdown of World Governance) เช่น WHO ส่งผลกระทบต่อบทบาทและความน่าเชื่อถือขององค์การระหว่างประเทศ โดยในห้วงที่ผ่านมา WHO ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการประกาศการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นการระบาดใหญ่ การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน และการเพิกเฉยต่อคำเตือนของสาธารณสุขไต้หวัน

               ♦ การเมืองเชิงอัตลักษณ์ จะกลายเป็นประเด็นอีกครั้ง กล่าวคือ กระแสการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ชาวจีน ชาวเอเชีย และชาวต่างชาติถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในหลายประเทศโดยอ้างถึงความเสี่ยงในการเข้ามาและแพร่ระบาดของโรค ขณะที่กลุ่มคนผิวสีและกลุ่มคนเชื้อสายฮิสปานิก ในสหรัฐมีแนวโน้มเผชิญหน้ากับการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากอัตราการติดเชื้อ COVID-19 และเสียชีวิตของคนผิวสีและฮิสปานิกที่สูงกว่าชาวอเมริกันผิวขาวราว 2 เท่าจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การคมนาคม และอาหาร ขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยยังถูกมองว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงติดโรคและนำพาโรคไปสู่พื้นที่อื่น ส่งผลให้หลายประเทศปิดรับผู้ลี้ภัยและระงับการช่วยเหลือ ประเด็นพรมแดนจะกลายเป็นประเด็นทางการแพทย์มากขึ้น

               ♦ หลายประเทศในระยะสั้นจะกลับมาเน้นกิจการภายในประเทศ (Inward) ของตัวเองมากขึ้น อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากร การจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 การจัดการพรมแดนระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการแยกตัวกัน (Decoupling) และมองข้ามประเด็นปัญหาระดับภูมิภาค (Regional) และระดับโลก (Global Problems) เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การอพยพของผู้ลี้ภัยขนานใหญ่ (Large-scale Immigration) อย่างไรก็ดี การเกิดโรคอุบัติใหม่จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศเด่นชัดขึ้นจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสินค้าและบริการระบบสาธารณสุข รวมถึงผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ในระยะยาว โรคระบาดจะมี ความสำคัญเทียบเท่ากับประเด็นระดับโลกอื่น ๆ อาทิ ประเด็นสภาพอากาศเปลี่ยน (Climate Change) อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ สาธารณสุข และวิถีชีวิตในวงกว้าง นอกจากนี้ การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการยกระดับความร่วมมือทางการแพทย์ทั่วโลกจะมี ความสำคัญมากขึ้น อาทิ กลไกการรับมือการแพร่ระบาดร่วมกันในประชาคมอาเซียน ASEAN Emergency Operations Centre Network for Public Health Emergencies (ASEAN EOC Network) และการเปิดรับจารีตทางสังคม (Social Norms) ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น สังคมไร้เงินสด การทำงานทางไกล เป็นต้น

img

2.1.2 จีนขึ้นมามีบทบาทท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้น

               ♦ การระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ระเบียบโลก (World Order) กำลังก้าวไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจที่สหรัฐฯ ไม่สามารถครองอำนาจเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่มีจีนก้าวขึ้นมาเป็นอีกมหาอำนาจนำของโลกอย่างชัดเจนมากขึ้น การระบาดครั้งนี้จะช่วยลดช่วงเวลาและระยะห่างระหว่างสองมหาอำนาจ ทั้งในเชิงขีดความสามารถ ทรัพยากร และความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ

               ♦ การมีบทบาทนำกระแสการเมืองโลกอาจจะเปลี่ยนจากสหรัฐฯ (US-Centric Glo- balization) เป็นจีน (China-Centric Globalization) กล่าวคือ สหรัฐฯ อาจจะไม่ถูกมองว่าเป็นผู้นำโลกเสรีจากแนวทางในการรับมือโรคระบาด แต่จะถูกมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มองแค่ผลประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก ยกตัวอย่างประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์วัคซีน ป้องกันโรคจากบริษัทสัญชาติเยอรมัน CureVac เพื่อให้เป็นสิทธิ์ขาดของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว สวนทางกับจีนที่แม้รัฐบาลจีนจะดำเนินมาตรการผิดพลาดในระยะแรกของการระบาด ทั้งการปกปิดความรุนแรงและการแพร่กระจายของไวรัส แต่ในระยะหลังรัฐบาลจีนได้ปรับมาตรการรับมือ ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที อาทิ การกักตัวเองของผู้ติดเชื้อและผู้เสี่ยงติดเชื้อ การระงับการเดินทาง การปิดเมือง ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการรับมือ COVID-19 นอกจากนี้ จีนยังแสดงบทบาทนำในการ ช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการรับมือ COVID-19 อาทิ การส่งออกหน้ากากอนามัย หน้ากากที่ใช้ในทาง การแพทย์ หน้ากากกันฝุ่น ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการส่งทีมแพทย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไปยังประเทศ ต่าง ๆ ท่าทีของจีนสะท้อนให้เห็นว่า จีนพยายามสร้างบทบาทนำในการปฏิรูประเบียบโลกใหม่ด้วยการจัดสรรสินค้าและบริการสาธารณะระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจนำ (Hegemony) ของโลก

               ♦ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Sino-American Relations) มีแนวโน้ม ถดถอยลง โดยมีสาเหตุมาจากการกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเป็นต้นเหตุของไวรัส COVID-19 และการกล่าวโทษกัน ไปมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างสองประเทศและทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียดมากขึ้น

2.1.3 อิทธิพลโลกตะวันออกเพิ่มขึ้น

               ♦ อิทธิพลของโลกตะวันตกมีแนวโน้มอ่อนลงสวนทางกับอิทธิพลของโลกตะวันออก ที่เพิ่มขึ้นในการเมืองโลก ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการการรับมือโรคระบาด ยกตัวอย่างเช่นมาตรการของไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และจีน ที่ดำเนินการแก้ปัญหาทันทีเมื่อพบการแพร่ระบาด ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ไม่สามารถรับมือโรคระบาดได้ดีพอ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อิทธิพลของโลกตะวันตกในระยะยาว

               ♦ ปรากฏความพยายามในการสร้างบทบาทนำของอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้ ภายหลังหลายประเทศหันไปพึ่งพาจีนมากขึ้น โดยในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกประเทศจีน รัฐบาลอินเดียได้เรียกร้องให้ผู้นำเอเชียใต้ หรือซาร์ก (SAARC) ร่วมมือกันรับมือไวรัสผ่านการประชุมผ่าน Video Conference และจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินในกรณีที่ประเทศในภูมิภาคต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข

img

               ♦ การบูรณาการของสหภาพยุโรป (EU Integration) จะอ่อนแอลง อันเนื่องมาจาก แรงกดดันทางการเมืองภายในของประเทศสมาชิก EU ในการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและการเปิดพรมแดนจะส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิก EU เช่น การขอความช่วยเหลือ ด้านสาธารณสุขของรัฐบาลอิตาลีต่อประเทศพันธมิตรทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ในขณะที่รัสเซียดำเนินการอย่างเต็มที่ในการส่งความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่อิตาลี สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า ท่าทีของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือของประเทศในกลุ่ม EU และบทบาทขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นต้น

2.2 มิติด้านเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานโลก

2.2.1 เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

              ♦ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Slowdown) หรือเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession)

img

              ♦ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และมีแนวโน้มว่า อาจส่งผลกระทบมากกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวขึ้นในปี 2564 หากประเทศต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

              ♦ ด้านเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างน้อย 2 ไตรมาส ต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจฉุดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง ครึ่งหนึ่ง อยู่ที่ร้อยละ 1.5

              ♦ รายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ระบุว่า การแพร่ระบาด ของ COVID-19 จะส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลกหดตัวลงราวร้อยละ 30 – 40 และกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains)

              ♦ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า COVID-19 จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโลก สูงกว่ากรณีของโรคซาร์ส โดยในครั้งนี้เศรษฐกิจโลกอาจสูญเสียมูลค่ามากถึง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP โลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่าเดิมช่วงโรคซาร์ส เชื่อมโยงทั้งการค้า การลงทุน และการขนส่ง ส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจจีนคิดเป็นร้อยละ 16 ของ GDP โลก (คิดเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก) เพิ่มสูงขึ้นจากสมัยโรคซาร์สอยู่ที่ร้อยละ 4

2.2.2 แนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

              ♦ มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะดำเนินไปในทิศทางลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (Eco- nomic Nationalism) หรือลัทธิปกป้องการค้า (Protectionism) มากขึ้น กล่าวคือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการค้าโลก สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายและผลกระทบที่รัฐพึ่งพิงระบบการผลิต ระหว่างประเทศมากเกินไป ส่งผลให้คนในประเทศตกงาน จึงมีความเป็นไปได้ที่กระแสลัทธิชาตินิยมทาง เศรษฐกิจการปกป้องการค้าจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในอนาคต

              ♦ มีความเป็นไปได้ที่จีนจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ (Domestic and Consumption Economy) มากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัส โดยสภาวะทางเศรษฐกิจและมาตรการทางเศรษฐกิจของจีนจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจากจีนมีบทบาท สำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก (Global Economic System) ประเด็นที่น่าจับตา คือ เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว แบบ V-shaped (ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว) หรือ U-shaped (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว)

2.2.3 การหยุดชะงักของการผลิตและห่วงโซ่อุปทานโลก

              ♦ ปัญหาการหยุดชะงักของการผลิต (Supply Disruption) เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chains) ที่มีส่วนการผลิตในประเทศที่เกิดการระบาดหยุดชะงัก และหากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ห่วงโซ่อุปทานที่มีความเชื่อมโยงในหลายประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และส่วนประกอบ จะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากต้องรับผลกระทบหลายทอดจากหลายประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน

              ♦ การค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ห่วงโซ่อุปทานโลก และกำลังการผลิตทั่วโลก (Global Manufacturing) จะได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 จากการปิดโรงงานการผลิต ในพื้นที่แพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก

              ♦ มีแนวโน้มว่าผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ (Supplier) ต่างชาติจะลดการพึ่งพาจากจีน และกระจายความเสี่ยงนั้นไปยังประเทศอื่น เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอย แม้ก่อนหน้านี้หลายประเทศ จะเปลี่ยน Supply Lines จากจีนไปประเทศอื่น แต่สินค้าบางชนิดยังคงต้องพึ่งพาการผลิตจากจีน

3. ผลกระทบต่ออาเซียน

3.1 มิติเศรษฐกิจ

              ♦ ในระยะสั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มากที่สุดในภูมิภาคจากการหยุดชะงักของการผลิตและอุปสงค์สินค้าที่ลดลง เนื่องจากทั้งสามประเทศนี้มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค (Regional Supply Chains) ค่อนข้างมาก อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากความพยายามในการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมใน Supply Chains

img

              ♦ มีแนวโน้มว่าหลายประเทศจะลดการพึ่งพาจีนลงในแง่ของ Supply Chains จึงเป็นโอกาสดีของกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและสินค้า อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ประเทศอาเซียนจะต้องปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตใหม่เช่นเดียวกับการมีมาตรการทางภาษี กฎหมายแรงงาน และระบบกฎหมายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ

              ♦ การปรับเปลี่ยนสายการผลิต (Supply-side Adjustments) จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการค้าและการลงทุน หนึ่งในการปรับเปลี่ยนนั้นคือการเปลี่ยนสายการผลิตจากจีนมายังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้กระบวนการดังกล่าวชะลอตัวลง จึงเป็นโอกาสของกลุ่มประเทศอาเซียนในการดึงการลงทุนต่าง ๆ ไว้

              ♦ ประเทศอาเซียนที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะไทย จากการประมาณการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าไทยจะสูญเสียนักท่องเที่ยวราว 5 ล้านคน สูญเสียรายได้กว่า 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 1.5 ของ GDP และอาจฉุดอัตราการเติบโตของ GDP ไทยลงจากที่คาดไว้ตอนต้นปี 2563 ที่ร้อยละ 2.8 เหลือเพียงร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 27 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศ

              ♦ กัมพูชาและลาวอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เนื่องจากการพึ่งพาการลงทุนและความช่วยเหลือจากจีนในระดับสูง

              ♦ การจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานและการจ้างงานจากความกังวลต่อการแพร่ระบาด ของ COVID-19 อาจส่งผลกระทบต่อประเทศส่งออกและรับแรงงานต่างชาติ และอาจกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและบริการภายในประเทศด้วย

              ♦ ในส่วนของบรูไนฯ และมาเลเซียอาจจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกน้ำมัน และสงครามราคาในตลาดน้ำมันโลกสวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ถูกลง

3.2 มิติการเมือง

              ♦ การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเป็นปัจจัยท้าทายเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศอาเซียน แม้สถานการณ์ทางการเมืองในบรูไนฯ สิงคโปร์ ลาว และเวียดนามจะมีเสถียรภาพความมั่นคง แต่สถานการณ์การเมืองในหลายประเทศยังคงน่าเป็นห่วง อาทิ การเมืองในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยที่กำลังอยู่ในสภาวะเปราะบาง ขณะที่เมียนมาและฟิลิปปินส์เตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ ตลอดจนอนาคตทางการเมืองของกัมพูชาที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้

img

4. ผลกระทบต่อไทยและข้อเสนอแนะ

4.1 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

              1) สหรัฐฯ และจีน จะยังคงแย่งชิงการมีบทบาทนำในด้านความสัมพันธ์กับไทย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จีนจะสามารถเข้ามาเพิ่มระดับความสัมพันธ์กับไทยได้เร็วกว่าเนื่องจากสถานการณ์ภายในจีนที่เริ่มคลี่คลาย พร้อมทั้งการมีมาตรการช่วยเหลือไทยในด้านการแพทย์เพื่อรับมือกับการระบาด ในขณะที่สหรัฐฯ อาจจะต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งในการแก้ปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงภายในประเทศ และยังจะต้อง ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในห้วงปลายปี 2563 (ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าการเลือกตั้ง ของสหรัฐฯ จะเลื่อนออกไปหรือไม่)

              2) จีนมีแนวโน้มจะแสวงประโยชน์จากสถานการณ์ที่สหรัฐฯ ยังประสบปัญหาการระบาดภายในประเทศ เข้ามากระชับความสัมพันธ์กับไทยในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอให้นักท่องเที่ยวจากจีนกลับมาเยือนไทยในโอกาสแรก ซึ่งไทยควรพิจารณาการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างรอบคอบ โดยพยายามหลีกเลี่ยงเงื่อนไขหรือการดำเนินการใดของจีนที่จะเป็นการผูกมัดไทย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

              3) ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกซึ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาด มีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนและเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทย ในขณะที่ประเทศตะวันตกจะยังคงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาการระบาดภายในประเทศ ซึ่งการเปิดรับการลงทุนอย่างเหมาะสมจากภาคธุรกิจของประเทศแถบเอเชียตะวันออกน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยในระยะหลังวิกฤติได้

              4) ประเด็นโรคระบาดจะกลายเป็นวาระสำคัญอย่างมากของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยควรพิจารณาแสวงหาจุดยืน และการดำเนินการ/การมีท่าทีที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเอื้อให้ไทยสามารถมีบทบาทนำในการผลักดันประเด็นดังกล่าวในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

              4) ประเด็นโรคระบาดจะกลายเป็นวาระสำคัญอย่างมากของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยควรพิจารณาแสวงหาจุดยืน และการดำเนินการ/การมีท่าทีที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะเอื้อให้ไทยสามารถมีบทบาทนำในการผลักดันประเด็นดังกล่าวในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

img img img

4.2 ด้านความมั่นคง

              ภัยจากการระบาด Covid-19 จะบดบังความสำคัญของภัยคุกคามอื่น ๆ และอาจส่งผลให้ภัยอื่น ๆ อาทิ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยคุกคามทางไซเบอร์ อาศัยช่วงเวลาที่ไทยให้ความสำคัญกับปัญหาโรคระบาดเป็นหลัก เข้ามาสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของไทยได้ ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามอื่น ๆ ตลอดเวลา

img

4.3 ด้านเศรษฐกิจ

              1) ไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้านเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการผลิต ภาคการค้าชายแดน และภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ ภาวะถดถอยในทางเทคนิค กล่าวคือ อาจติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสจากการลดลงของภาคการผลิต การใช้จ่ายภาคอุปโภค บริโภค การลงทุน การส่งออกสินค้าและบริการอันอาจนำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน

              2) มีแนวโน้มที่หลายบริษัทจะพยายามลดการพึ่งพาจีนลงในแง่ของ Supply Chains และแสวงหาแหล่งผลิตใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงซึ่งไทยอาจแสวงหาผลประโยชน์จากกรณีดังกล่าว โดยพิจารณานำเสนอตนเองเป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและสินค้า อย่างไรก็ตาม ไทยอาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการเป็นแหล่งผลิตใหม่ เช่นเดียวกับการมีมาตรการทางภาษี กฎหมายแรงงาน และระบบกฎหมายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ

img
กองความมั่นคงระหว่างประเทศ
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
บทความจาก วารสารมุมมองความมั่นคง ฉบับที่ ๔ (มิ.ย. – ก.ย. ๖๓)

แชร์เลย