การประชุมชี้แจงการดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖

        เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล)/ประธานกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ/สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) เป็นฝ่ายเลขานุการฯ พร้อมทั้งมีกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ และหน่วยงานเจ้าภาพแผนงาน/โครงการ ทั้ง กอ.รมน./กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า ศอ.บต. สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้ง ทางจังหวัด ทั้ง ๔ จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา) รวมถึงหน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
        ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวคิด เป้าหมาย และจุดเน้นสำคัญภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นไปตามกรอบนโยบายการบริหารและ การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง แนวทางการขับเคลื่อนงาน ที่เชื่อมต่อกับแผนงบประมาณตามภารกิจปกติของหน่วยงาน (Function-based) และแผนงบประมาณเชิงพื้นที่ (Area-based) ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา) โดยมีกลไกคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ เป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะ ประสานงาน และติดตามการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
        ในการนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล)/ประธานกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ ได้เน้นย้ำให้ กอ.รมน. และ ศอ.บต. ในฐานะเจ้าภาพมิติด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา มุ่งเน้นขับเคลื่อนงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการฯ โดยขอให้ มีการประสานงานกับจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างโครงการและกิจกรรมภายใต้แผนงานบูรณาการฯ กับแผนงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง และตอบสนองต่อความต้องการ ของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ได้มุ่งเน้นให้มีการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายในระยะที่ ๒ ของยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องตามนโยบายการบริหาร และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม (กชต.)
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย