สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
แผนผังโครงสร้างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
Organizational Structure of the NSC
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
กลุ่มภารกิจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต
ภารกิจ:
- เสนอแนะต่อเลขาธิการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของสำนักงาน ประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของสำนักงาน
- เร่งรัดและกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการในสำนักงาน และทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจริยธรรมประจำ สมช.
- ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม และประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน
- ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ และจัดทำรายงานการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของสำนักงาน
ผลงานที่โดดเด่น:
1. ขับเคลื่อนแผนด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของ สมช. อาทิ การจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงการทุจริต ของ สมช. การขับเคลื่อนการประเมิคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) เป็นต้น

2. ขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของ สมช. เช่น การขับเคลื่อนการประเมิน ชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม การจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม ของ สมช. เป็นต้น

กลุ่มตรวจสอบภายใน
ภารกิจ:
- ดำเนินการตรวจสอบทางการเงินและการคลัง รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบและประเมินกระบวนการดำเนินงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริหารองค์กรในการดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องและโปร่งใส
- ให้คำปรึกษาอย่างเป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อการดำเนินงานขององค์กรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประสานความร่วมมือและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร หรือที่ได้รับมอบหมาย
กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
ภารกิจ:
กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2563 ข้อ 6 ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้มีกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เพื่อทำหน้าที่หลักในการพัฒนาการบริหารของสำนักงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รับผิดชอบงาน ขึ้นตรง ต่อเลขาธิการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะให้คำปรึกษาแก่เลขาธิการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบราชการภายในสำนักงานฯ ติดตาม ประเมินผล และจัดทำรายงานผลเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายใน รวมทั้งประสานและดำเนินการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลงานที่โดดเด่น:
1.การประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของ สมช. มีผลประเมินในระดับมาตรฐานขั้นสูง ได้รับ 83.99 คะแนน

2. การประเมินสถานะของหน่วยงานในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0) มีผลระดับก้าวหน้า (Advance) ได้รับ 400.95 คะแนน โดยเป็นครั้งแรกที่ สมช. ได้รับคะแนนเต็ม ในหมวด 2 การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และหมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร

3. จัดทำ “แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตของ สมช. พ.ศ. 2567 – 2570 (Business Continuity Plan : BCP)” ซึ่งสามารถผลักดันให้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยทั้งสำนักงานฯ และการวางระบบการฝึกซ้อมตามแผนเผชิญเหตุที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณภัย และเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์เพื่อลดความเสี่ยงกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สมช.

4. จัดทำ “แนวทางการดำเนินงานต่อผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ สมช. พ.ศ. 2567 – 2570” และจัดทำแบบประเมินความพึงพอใจ เพื่อให้หน่วยงานภายใน สมช. ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการตอบสนองตามความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ สมช.

5. การวิเคราะห์องค์กร สมช. โดยรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของบุคลากรภายใน สมช. และ ภาคีเครือข่ายภายนอก เพื่อเป็นฐานข้อมูลประกอบการยกร่างข้อเสนอการแบ่งส่วนราชการของ สมช. ตามแนวทางการแบ่งส่วนราชการภายในกรม

กลุ่มกฎหมาย
ภารกิจ:
- อำนวยการ ประสานงานและติดตามการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายด้านความมั่นคงอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ข้อกฎหมายและให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของสำนักงาน
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดพื้นที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2. การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับกับการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ผานมาใน 3 กรณี ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สถานการณ์ความไม่สงบและการชุมนุมทางการเมือง และ สถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถาบันความมั่นคงศึกษา
ภารกิจ:
- ศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และบริหารจัดการคลังสมองด้านความมั่นคง
- ส่งเสริม ประสานงาน และร่วมมือในกิจการด้านวิชาการความมั่นคงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบไม่เป็นทางการ (Track 1.5) หรือภาควิชาการ (Track 2) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- สนับสนุนให้มีการฝึกศึกษา อบรม และการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานตามพันธกิจ
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การฝึกอบรมหลักสูตรความมั่นคงศึกษา

2. การประชุมและการสัมมนาทางวิชาการ

3. วารสารมุมมองความมั่นคง

กลุ่มภารกิจนโยบายและแผนความมั่นคง
กองนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคง
ภารกิจ:
- จัดทำ ติดตาม ประเมินผล พัฒนา และขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และบูรณาการความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนงานหลักระดับชาติที่เกี่ยวข้อง
- พิจารณาให้ความเห็นแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อประกอบพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ สำหรับแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวมของยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับผิดชอบในการประสานงานเรื่องยุทธศาสตร์ชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงาน
- ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศในกิจการความมั่นคงในมิติต่าง ๆ อาทิ ด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการประเมินสภาวะแวดล้อม และด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอื่น ๆ
- ปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามที่ได้รับมอบหมาย อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนย่อยด้านการพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ด้านความมั่นคง กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม)
ผลงานที่โดดเด่น:
1. บูรณาการขับเคลื่อนและติดตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล
- (ร่าง) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคง
- การประเมินให้คะแนนข้อเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
- การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

2. ขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570)
- การขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) ภายใต้แนวคิด “เมื่อโลกปรับและภัยเปลี่ยน : ร่วมเดินหน้า 17 นโยบายมุ่งสู่ประเทศไทยมั่นคงอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และส่งเสริมความเข้าใจให้แก่หน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบบูรณาการขับเคลื่อนฯ ส่วนราชการทุกระดับ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการถ่ายทอดนโยบายและแผนระดับชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ
- การขับเคลื่อนและติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) ในระดับพื้นที่ (ครอบคลุม 6 ภาค 76 จังหวัด) เพื่อติดตามและ ตรวจสอบสถานการณ์ความมั่นคงในระดับพื้นที่ และรับทราบปัญหาอุปสรรค สำหรับใช้ปรับปรุงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ

3. การพัฒนาเครื่องมือทางนโยบาย
- การพัฒนา สมช. สู่ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม (NSC Policy Design) เพื่อพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการออกแบบทางนโยบาย (Policy Design) สมัยใหม่ที่นำไปต่อยอดนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation)
- การหารือเพื่อพัฒนาดัชนีความมั่นคงของประเทศไทย (Thailand National Index: NSI) สำหรับเป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย (Policy Regulator) ในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินภารกิจความมั่นคงในภาพรวม และเพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่

4. การอำนวยการกลไกคณะกรรมการระดับชาติด้านความมั่นคง
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- คณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ
- คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ด้านความมั่นคง กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม)

กองประเมินภัยคุกคาม
ภารกิจ:
- พัฒนายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินสถานการณ์และภัยคุกคามซึ่งมีความเสี่ยงอันจะนำไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการและประสานความร่วมมือด้านการข่าวกรองร่วมกับประชาคมข่าวกรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการเฝ้าระวังและรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง ดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัยของชาติ โดยประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงยุทธศาสตร์ และพัฒนามาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา
- ดำเนินการแจ้งเตือนภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมนำเสนอแนวทางการประเมินระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดำเนินการอื่นที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การติดตามและประเมินสถานการณ์และให้ความเห็นด้านความมั่นคงและเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไกการประเมินภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ พัฒนาและนำเครื่องมือ/เทคนิค/วิธีการประเมินความเสี่ยงเชิงระบบในด้านความมั่นคง (Systemic Risk Analytical) จำนวน 8 เครื่องมือ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำรายงานประเมินหรือแจ้งเตือนภัยคุกคามด้านความมั่นคงในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จำนวน 12 ฉบับ
2. การติดตามและประเมินสถานการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงตามวงรอบ จัดการประชุมผ่านกลไกคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเป็นรายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี
3. การผลักดันประเด็นด้านความมั่นคงที่สำคัญร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศหรือเข้าร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ แลกเปลี่ยนการประเมินสถานการณ์ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับหน่วยงานต่างประเทศ รวมถึงการสถาปนาความสัมพันธ์กับประชาคมด้านการประเมินประเทศพันธมิตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์และการประเมินภัยคุกคามให้แก่เจ้าหน้าที่ สมช.
4. ประสานความร่วมมือกับภาควิชาการ โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงด้วยวิธีการคาดการณ์อนาคต (Foresight)
กลุ่มภารกิจอำนวยการความมั่นคงเฉพาะเรื่อง
กองความมั่นคงด้านการเตรียมพร้อมและการป้องกันประเทศ
ภารกิจ:
- เสนอแนะ จัดทำ ติดตาม ขับเคลื่อน ประเมินผลและพัฒนายุทธศาสตร์และแผนความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การบริหารวิกฤตการณ์ การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงแห่งชาติ และการป้องกันประเทศรวมทั้งการสั่งสมองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ
- อำนวยการบริหารวิกฤตการณ์ความมั่นคงระดับชาติและประสานความร่วมมือกับเครือข่ายการบริหารเหตุการณ์ในประเทศและระหว่างประเทศทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ
- เสนอแนะแนวทางและมาตรการ อำนวยการและประสานการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ความมั่นคงและแผนงานด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการและอนุกรรมการตามที่ได้รับมอบหมาย
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
- ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงและนำไปสู่วิกฤตการณ์ระดับชาติ ภัยคุกคามด้านการทหาร และสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการป้องกันประเทศและภาพรวมความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และความมั่นคงเกี่ยวกับฐานทรัพยากร รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
- เสนอแนะ จัดทำ ติดตาม ขับเคลื่อน ประเมินผล และพัฒนายุทธศาสตร์ แนวทาง และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมแห่งชาติ การบริหารวิกฤตการณ์ การเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ การป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายในทั้งพื้นที่ทางบกและทางทะเล รวมทั้งส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
- เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง
- จัดการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานอำนวยการจัดฝึกระดับชาติ และส่งเสริมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละประเด็นภัยคุกคามเป็นหน่วยงานอำนวยการฝึกในระดับหน่วยงาน
- ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงและนำไปสู่วิกฤตการณ์ระดับชาติ ภัยคุกคามด้านการทหารและสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการป้องกันประเทศและความมั่นคงเกี่ยวกับฐานทรัพยากร รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง: แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การอบรมปรับมาตรฐานขั้นสุดท้ายรองรับการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2567 (C – MEX TTX 24 FPC)

2. การฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2567 (C – MEX 24) ในรูปแบบการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table – Top Exercise: TTX)

3. การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนการปฏิบัติการฝึกการบริหาร วิกฤตการณ์ระดับชาติ (C – MEX : AAR)

4. การลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงภัย/ปัญหาความมั่นคงของพื้นที่และติดตามการจัดทำและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (โครงการ พมพ.) ตามจังหวัดต่าง ๆ

5. การพัฒนาและออกแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรายงานและประเมินผลแผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง (Electronics assessment reports: EAR)
6. จัดทำ (ร่าง) “แนวปฏิบัติเชิงนโยบายด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์ด้านความมั่นคงในแบบบูรณาการ”
กองความมั่นคงเกี่ยวกับภัยคุกคามข้ามชาติ
ภารกิจ:
- พัฒนายุทธศาสตร์และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่มีความเกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์ภัยคุกคามข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงาน กำหนดแนวทางและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
- ประสานความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย
- จัดทำ “แผนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาวะวิกฤต” รวมทั้งประสานความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง: แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
ผลงานที่โดดเด่น:
1. ด้านการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง
- จัดทำ/ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองและบริหารสถานการณ์หากเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยให้มีความพร้อมตั้งแต่ในยามปกติและมีศักยภาพในการฟื้นตัวจากผลกระทบจากภัยคุกคามด้าน การก่อการร้าย
- ปฏิสัมพันธ์กับมิตรประเทศ/องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการต่อต้านการก่อการร้าย อาทิ 1) ความร่วมมือกับโครงการ Protect & Prepare สอท. สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย 2) การเข้าร่วมประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและ ความมั่นคงข้ามชาติ (Sub – Regional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Security: SRM)


2. ด้านการดำเนินการความร่วมมือด้านความมั่นคงภายใต้กรอบพหุภาคี
- การเข้าร่วมการประชุมตามกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi – Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC)
- การประชุมภายใต้กลไกคณะทำงานย่อยของคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ภายใต้กรอบ BIMSTEC

3. การดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์
- การประชุมหารือทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี (Thailand – Republic of Korea Cybersecurity Dialogue) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 – 17 พ.ค. 2567 ณ สาธารณรัฐเกาหลี

กองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน
ภารกิจ:
- ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงชายแดน ความมั่นคงต่อประเทศรอบบ้านและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การวางแผนในการกำหนดมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนายุทธศาสตร์และแผนความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงชายแดน การบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง การค้าและเศรษฐกิจชายแดนในมิติความมั่นคง ตลอดจน ความมั่นคงต่อประเทศรอบบ้านและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง: แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง
ผลงานที่โดดเด่น:
จัดทำและขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. 2566 – 2570)” อาทิ การพัฒนากระดานข้อมูลชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (Thailand’s Border Dashboard) การดำเนินการจัดระเบียบหรือควบคุมพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดน และการเตรียมความพร้อม ในการยกระดับจุดผ่านแดน พร้อมทั้งติดตาม ประเมินสถานการณ์ และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ความมั่นคงชายแดน

กองความมั่นคงภายในประเทศ
ภารกิจ:
- พัฒนายุทธศาสตร์ และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ ดูแลด้านกิจการภายในประเทศ ประเด็นทางสังคมจิตวิทยา การโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร รวมถึงผู้หนีภัยการสู้รบ การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ นอกจากนี้ ดำเนินการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวางแผนในการกำหนดมาตรการ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
- กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง: แผนปฏิบัติการด้านการธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติ
ผลงานที่โดดเด่น:
1. จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติ พ.ศ. 2564 – 2570”

2. การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล โดย สมช. ได้เสนอ “หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567

3. การบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและให้ความช่วยเหลือบุคคลชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

กองความมั่นคงระหว่างประเทศ
ภารกิจ:
- ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านกิจการระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และองค์การระหว่างประเทศที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงาน กำหนดแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้อง
- พัฒนายุทธศาสตร์และแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้หมู่เกาะเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา โลกมุสลิม สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน รวมทั้งดำเนินการ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การประชุมหารือเรื่องความมั่นคงระหว่างอินโดนีเซียและไทย ครั้งที่ 1

2. การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความริเริ่มด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative: PSI)

3. การหารือด้านความมั่นคง (Security Dialogue) ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1

กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้และชนต่างวัฒนธรรม
ภารกิจ:
- พัฒนานโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงยุทธศาสตร์ แผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ รวมทั้ง ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในมิติภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การวางแผนในการกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
- จัดทำและขับเคลื่อนภารกิจด้านการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย และงานสันติวิธีเพื่อความมั่นคง ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ และผลักดันการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืน
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง:
- แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย
- แผนการสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ
- นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลงานที่โดดเด่น:
1. จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 -2570)” เพื่อเป็นกลไกในการบูรณาการงานทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

2. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนกรณีทับซ้อนการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรม และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ

3. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรายงานผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนความมั่นคงเฉพาะเรื่องของ สมช. (Electronic Assessment Report : EAR)
4. จัดทำกลไกและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ระดับจังหวัด
5. ขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

กองความมั่นคงทางทะเล
ภารกิจ:
- รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเชิงนโยบาย ทั้งด้านการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ความมั่นคงทางทะเล การเสนอแนะ จัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน รวมทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- จัดทำแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการของ ภาคส่วนต่าง ๆ ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนระดับต่าง ๆ
แผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง: แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล
ผลงานที่โดดเด่น:
1. ดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2566 – 2570 โดยอาศัยกลไกต่าง ๆ ทั้งในระดับอนุกรรมการและกรรมการเพื่อดำเนินการ ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562

2. ขับเคลื่อนโครงการ “การพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการเสริมสร้างองค์ความรู้และผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” ซึ่งเป็นโครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์

3. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

4. อำนวยการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เป็นการดำเนินงานในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฯ โดยมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลและติดตามการปฏิบัติงานตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลฯ

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร*
ภารกิจ:
- พัฒนาระบบสารสนเทศและระบบเชื่อมโยงข้อมูลภายใน สมช. รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบเชื่อมโยงด้านความมั่นคงกับหน่วยงานหรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
- ศึกษา พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา และปรับปรุงระบบสารสนเทศและการสื่อสารภายใน สมช.
- จัดทำแผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้ง จัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ตลอดจนพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทสและการสื่อสารให้แก่บุคลากร
- รวบรวม วิเคราะห์ ประมวล จัดทำ ขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล รวมถึงพัฒนานโยบายยุทธศาสตร์และแผนบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง ตลดจนจัดระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้านความมั่นคง เพื่อเป็นกรอบในการประเมินและการตัดสินใจเชิงนโยบาย
- อำนวยการและประสานความร่วมมือบูรณาการด้านความมั่นคงรวมถึงเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่เหมาะสม ตลอดจนประสานขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนความมั่นคงเฉพาะเรื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลงานที่โดดเด่น:
1. รางวัล PRIME MINISTER AWARD THAILAND CYBERSECURITY EXCELLENCE AWARD 2024 ประเภทหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

2. การขับเคลื่อนระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐ

3. NSC CYBER AWARENESS 2024

สำนักงานเลขาธิการ
ภารกิจ: มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการทั่วไป ของสำนักงานและราชการอื่นที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะหน้าที่ ประกอบด้วย
- กลุ่มงานบริหารงานสารบรรณและประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปปฏิบัติงานสารบรรณของสำนักงาน อำนวยการ และงานเลขานุการ รวมถึงงานประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ตลอดจนดำเนินงานด้านพระราชพิธี รัฐพิธี ศาสนพิธี และกิจกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- กลุ่มงานบริหารการประชุม ทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย การให้บริการและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เกี่ยวกับการประชุม ตลอดจนสนับสนุนงานประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน
- กลุ่มงานบริหารงานคลัง ทำหน้าที่ดำเนินการควบคุม กำกับดูแลและอำนวยการเกี่ยวกับการรับ-จ่ายเงิน การนำเงินส่งคลัง การเก็บรักษาเงิน และเอกสารทางการเงิน รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินบำเหน็จบำนาญ เงินอื่น ๆ ตลอดจนการบริหารงบประมาณ จัดทำบัญชีทะเบียนคุมเงินรายรับ – รายจ่าย เพื่อควบคุมการเบิกจ่าย และจัดทำรายงานทางการเงินประจำเดือน ประจำปี บัญชีต้นทุนผลผลิตประจำปี
- กลุ่มงานบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล ทำหน้าที่ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของสำนักงานในการวางระบบ วางแผนอัตรากำลัง ระบบสรรหา แต่งตั้ง โยกย้าย ระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน การบริหารค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ รวมถึงการวิเคราะห์ เสนอแนะ และให้คำปรึกษาเพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน
- กลุ่มงานบริหารงานพัสดุ อาคารสถานที่ และยานพาหนะ ทำหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ควบคุม และดูแลการเบิกจ่ายค่าวัสดุสำนักงาน ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ และยานพาหนะของสำนักงาน ตลอดจนดูแลและบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ทั้งในส่วนของตัวอาคารและบริเวณโดยรอบ ให้มีสภาพที่เหมาะสมและพร้อมใช้งาน
กลุ่มงานพัฒนาแผนปฏิบัติราชการภายในองค์กร*
ภารกิจ:
- งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
-
1) การจัดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอต่อสำนักงบประมาณ และฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา
2) การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีงบประมาณ ให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้ง
สอดรับต่อเป้าหมายของแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระยะ 5 ปี และรายปีงบประมาณ
3) การจัดทำ และเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รายไตรมาส
4) การกำกับ ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งการบรรลุผลตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อรายงานผลต่อสำนักงบประมาณ ตลอดจนประกอบการพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างปี และการจัดทำคำของบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้สอดรับกับภารกิจ ความจำเป็น และความคุ้มค่า ตลอดจนตอบสนองต่อเป้าหมายของแผนระดับชาติ และนโยบายรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ - แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
-
1) การจัดทำแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระยะ 5 ปี และรายปีงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง (พ.ศ. 2566 – 2570) (ฉบับปรับปรุงแก้ไข) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) และนโยบายสำคัญของรัฐบาล
2) การให้คำปรึกษา กำกับ และบริหารการดำเนินงานของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานสภาความมั่นคง
แห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และรายปีงบประมาณ
3) การกำกับ ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และรายปีงบประมาณ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะจากผลการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อประกอบการกำหนดทิศทางในการดำเนินงานของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในระยะต่อไป
ผลงานที่โดดเด่น:
1. การจัดทำ และเผยแพร่ แผนปฏิบัติราชการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนปฏิบัติราชการฉบับรายปีงบประมาณ

2. จัดทำและเผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นรายไตรมาส

3. ระบบบริหารแผนปฏิบัติราชการและการติดตามประเมินผล (ระบบ Plan) เพื่อกำกับ ติดตาม ประสานภารกิจ และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

*กลุ่มงานพัฒนาแผนปฏิบัติราชการภายในองค์กร จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง สมช. ที่ 195/2563 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2563
*สถาบันความมั่นคงศึกษา จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง สมช. ที่ 275/2563 ลงวันที่ 7 ส.ค. 2563
*ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง สมช. ที่ 396/2563 ลงวันที่ 30 กับยายน 2563
*สำนักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความมั่นคง จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง สมช. ที่ 449/2565 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565