พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

       วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ณ ห้องประชุม พลเอก จิร วิชิตสงคราม ชั้น ๗ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยมี นายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน การลงนามดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยดำเนินการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ความช่วยเหลือด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพัฒนาทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทยโดยรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน

       มากกว่า 3 ทศวรรษที่ได้มีการผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่งขึ้นในประเทศไทย จวบจนปัจจุบันประเทศไทยมีแท่นหลุมผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมรวมถึงแท่นที่พักอาศัยในอ่าวไทยมากกว่า 400 แท่น และกำลังเข้าสู่ยุคที่แท่นและสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมหลายแหล่งกลางอ่าวไทยกำลังทยอยหมดอายุสัมปทานลง ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ให้เพียงพอและพร้อมนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนอกชายฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะในกระบวนการวางแผนหาแนวทางที่เหมาะสม และตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับแท่นและสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมกลางอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานดังกล่าว

       ทั้งนี้ ประเทศไทยยังขาดแคลนงานวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในเขตทะเลนอกชายฝั่งที่ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ด้านนี้เพื่อบริหารความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล สิ่งมีชีวิตไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ และสูญเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเลอย่างเหมาะสมได้

       วิธีดำเนินการต่อแท่นและสิ่งติดตั้งที่กำลังหมดอายุสัมปทานนั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีการรื้อถอนในแนวทางเดียวกันทั้งหมด การคงอยู่ของสิ่งติดตั้งบางแห่งอาจมีศักยภาพและมีบทบาทเป็นระบบนิเวศบริการ (Ecosystem Services) ที่จะช่วยรักษาความหลากหลายชีวภาพทางทะเลทั้งในบริเวณชายฝั่งและนอกชายฝั่งได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับความหลากหลายชีวภาพทางทะเลในเขตนอกชายฝั่งที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับระบบนิเวศไปจนถึงระดับพันธุกรรมที่เหมาะสม และศึกษาความเป็นไปได้ในการวางสิ่งติดตั้งไว้ที่เดิม (leaving in place) จึงถือเป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญที่จะทำให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำไปใช้พิจารณากระบวนการจัดการกับสิ่งติดตั้งได้อย่างเป็นระบบ และที่มากไปกว่านั้น องค์ความรู้เรื่องความหลากหลายชีวภาพในทะเลบริเวณสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานนั้นยังถือเป็นฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและการจัดทำบัญชีรายการเชิงลึก (Inventory Biodiversity) ของประเทศไทย ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระดับต่าง ๆ ได้อีกด้วย

       การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านผลประโยชน์ของชาติทางทะเลครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการประสานงานระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการสามารถเข้าไปศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ขาดหายไปในพื้นที่บริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมได้สะดวกภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนั้นองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกส่งต่อไปยัง วช. เพื่อนำไปถ่ายทอดและต่อยอดผ่านการกำหนดกรอบวิจัยและนวัตกรรมที่เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งเชิงลึกและนโยบายระดับชาติโดยการสนับสนุนของอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สมช. ต่อไป

กองความมั่นคงทางทะเล
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย