ข่าวประชาสัมพันธ์
การประชุมส่วนราชการเพื่อทบทวนระยะครึ่งแผนของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐)

เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้จัดการประชุมส่วนราชการ เพื่อทบทวนระยะครึ่งแผนของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ณ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์พอยต์ เพลินจิต กรุงเทพฯ โดยมี นายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อทบทวนแนวโน้มบริบทสถานการณ์ความมั่นคง รวมถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ของ ๑๗ นโยบายและแผนความมั่นคง ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯ ให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจความมั่นคงในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อน กำกับติดตามการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๒๐ หน่วยงานเข้าร่วมฯ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
สำหรับการประชุมส่วนราชการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ๒ กิจกรรม ประกอบด้วย ๑) การบรรยาย ๓ หัวข้อ ได้แก่ (๑) หัวข้อ ผลการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติฯ ในห้วงที่ผ่านมา โดยนางสาวชลธนสรณ์ พิสฐศาสน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สมช. (๒) หัวข้อ กรอบการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔ โดย นางสาวปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ (๓) หัวข้อ บริบทสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในระยะ ๕ – ๑๐ ปีข้างหน้า โดยนายกิติภณ รื่นสัมฤทธิ์ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และนางพักตร์ประไพ คำบรรลือ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และ ๒) การแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น (Workshop) โดยเป็นการทบทวนบริบทสถานการณ์ความมั่นคงที่สำคัญ รวมถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ของนโยบายและแผนความมั่นคง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อจำกัด ปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อน กำกับติดตามการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อมูลนำเสนอสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อทราบ และใช้ประกอบการยก (ร่าง) กรอบนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฯ ฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๗๑ – ๒๕๗๕) ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้เสนอให้มีการทบทวนและเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ อาทิ สถานการณ์ความมั่นคงชายแดนและความมั่นคงทางทะเล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางไซเบอร์ในห้วงอนาคต อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควอนตัม รวมถึงแนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบต่อความมั่นคงในอนาคต สถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติที่มีแนวโน้มซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ อาทิ สถานการณ์ยาเสพติด สถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย สถานการณ์การค้ามนุษย์ รวมถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง อาทิ ปัญหาสาธารณภัย โรคติดต่ออุบัติใหม่ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้สะท้อนข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคของการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาร่วมด้วย
กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ