การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖

      พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ดังนี้

      ๑. แผนขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (แผนระดับที่ ๓) รวม ๓ แผน ดังนี้ ๑) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการชายแดน และการสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคง ความปลอดภัยคนและชุมชนในพื้นที่ชายแดนและชายฝั่งทะเล ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ และเร่งรัดดำเนินการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ๒) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) มุ่งเน้นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับภัยก่อการร้าย (Prevention) การเสริมสร้างการตอบโต้ต่อเหตุวิกฤตจากการก่อการร้าย (Countering) และการเสริมสร้างการฟื้นตัวภายหลังเกิดเหตุวิกฤตก่อการร้ายให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว และ ๓) (ร่าง) แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันตอบสนอง และบริหารจัดการ ตั้งแต่ในภาวะปกติ เพื่อให้ประเทศพร้อมบริหารสถานการณ์ในวิกฤติ ครอบคลุม ๕ เรื่อง ได้แก่ (๑) โรคภัยติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ (๒) ก่อการร้าย (๓) ภัยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (๔) วิกฤตด้านพลังงาน และ (๕) วิกฤตด้านอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมและการบูรณาการทรัพยากรที่จำเป็น ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์

      ๒. การจัดทำรายงานการศึกษาของคณะที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวม ๔ เรื่อง ๑) แนวโน้มสถานการณ์ของโลกปี ๒๕๖๖ (Security Outlook 2023) ๒) กรอบแนวทางการจัดทำดัชนีความมั่นคงของประเทศไทย ๓) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจในมิติทางทะเล และ ๔) แนวทางการกำหนดนโยบาย/จุดยืน/ผลประโยชน์ของไทยที่เป็นรูปธรรมในสถานการณ์การแข่งขันของมหาอำนาจที่รุนแรงในปัจจุบัน

      ที่ประชุมได้รับทราบ ดังนี้ ๑) ภาพรวมผลการดำเนินงานในการรักษาความมั่นคง ประจำปี ๒๕๖๕ และแผนบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้านความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ๒) ผลการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๕ มุ่งเน้นความพร้อมของหน่วยงานและผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติงานภายใต้ระบบบัญชาการเหตุการณ์เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ระดับชาติ และ ๓) ความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่รัฐบาลเร่งรัดให้มีการดำเนินการเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ และ ๔) การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ ๑) การบูรณาการการปฏิบัติร่วมกันระหว่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงมหาดไทย ๒) การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและยุติธรรม เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่จะทำความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และ ๓) ให้มีการยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายในประเทศ และต่างประเทศ

กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย