การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565

        พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี/ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๕ เมื่อวันพุธที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ ๕ เรื่อง ดังนี้ ๑)การยกระดับการบริหารจัดการชายแดนเพื่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเสริมศักยภาพพื้นที่ชุมชน และระบบบริหารจัดการชายแดน ซึ่งครอบคลุมเรื่องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในการป้องกันพื้นที่ชายแดน การเสริมสร้างเอกภาพในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล การเพิ่มความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นนอกภาครัฐ โดยให้หน่วยงานของรัฐและภาคีเครือข่ายได้ประสานการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาชายแดน ๒)แนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่อง (๑) การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ (๒)(ร่าง) แผนการสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาต่อในต่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษาไทยมุสลิมที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญให้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่มีคุณภาพ มีภูมิคุ้มกันทางความคิด มีความเข้าใจและร่วมสนับสนุนบรรยากาศอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมกลับมาเป็นกำลังสำคัญและมีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่และประเทศ ๓.(ร่าง) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนงานและโครงการด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลแบบองค์รวม เพื่อให้สามารถรับมือและควบคุมภัยคุกคามทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๔.การแก้ไขปรับปรุงประกาศสภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ๕. มาตรการในการรับมือสถานการณ์การก่อการร้ายในห้วงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation)

        นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบ ๑) การประเมินสถานการณ์และแนวโน้มด้านความมั่นคง ๒) กรอบแนวคิดการบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ห้วงระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงเข้าสู่ห้วงระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) โดยทบทวนและปรับปรุงแผนระดับที่ ๒ รองรับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ได้แก่ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๘๐) (ฉบับปรับปรุง) และ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) และ ๓) การจัดทำแผนระดับที่ ๓ รองรับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) มุ่งเน้นให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและขับเคลื่อนแผนระดับที่ ๓ โดยนำเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ไปกำหนดแผนงาน โครงการ กิจกรรม หรือการดำเนินการอื่นๆ ไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการดำเนินการของหน่วยงานรัฐให้นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติตามหลักความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล (Causal Relationship: XYZ)

กองนโยบายและแผนความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

แชร์เลย