การประชุมเพื่อพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงและการคาดการณ์อนาคต รองรับการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม (NSC Policy Design II)

       เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ได้จัดการประชุมเพื่อพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงและการคาดการณ์อนาคต รองรับการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม (NSC Policy Design II) ณ โรงแรมอมารี หัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายวรณัฐ คงเมือง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน โดยมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการประเมินสถานการณ์ความมั่นคง และการคาดการณ์อนาคต (Foresight) รอบรับการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่องในความรับผิดชอบของ สมช. เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม

       การประชุมฯ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ๒ กิจกรรม ดังนี้ ๑) การบรรยาย ๒ หัวข้อ ได้แก่ (๑) หัวข้อ บริบทสภาวะแวดล้อมและแนวโน้มสถานการณ์ความมั่นคงที่อาจกระทบความมั่นคงของไทยในอนาคต โดยนางสาว จอมใจ กุลธานี นักวิเคราะห์อาวุโส ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และผู้แทนกองประเมินภัยคุกคาม สมช. และ (๒) หัวข้อ เครื่องมือการคาดการณ์อนาคตเพื่อนโยบายความมั่นคง โดย ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ APEC Center For Technology Foresight สอวช. และคณะ และ ๒) การประชุมเพื่อพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงและการคาดการณ์อนาคตฯ ร่วมกับศูนย์ APEC Center For Technology Foresight โดยเจ้าหน้าที่ สมช. ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและเครื่องมือ การประเมินสถานการณ์และการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ที่สำคัญ พร้อมทั้งได้ร่วมกันวิเคราะห์และฝึกการใช้เครื่องมือตามลำดับ ดังนี้ (๑) การกวาดหาสัญญาณ (Scanning with STEEP) เพื่อสำรวจแนวโน้มสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต (๒) การวิเคราะห์และจำแนกสัญญาณ (Future Radar) เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม (Treads) และปัจจัยขับเคลื่อน (Drivers) ที่อาจมีผลกระทบในอนาคต สำหรับใช้วางแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ (๓) การวิเคราะห์สามเหลื่อมแห่งอนาคต (Future Triangle) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและส่งผลต่อสถานการณ์ (แรงขับเคลื่อน: Pushs – อนาคตที่อยากให้เป็น : Pulls – อุปสรรค/ความเชื่อเก่า : Weights) และ (๔) การจัดทำ Policy Recommendation เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้มีการทดลองใช้เครื่องมือ ผ่านการหยิบยกประเด็นแนวโน้มสถานการณ์สำคัญ ได้แก่ ประเด็นการป้องกันการเกิดสงครามทางอวกาศ (Space War) ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเฉียบพลัน (Artificial Intelligence: AI) ประเด็นการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทะเลหลวง (Ocean New World Order) และประเด็นความมั่นคงเกี่ยวกับอธิปไตยและกิจการชายแดน (Border Security)

กองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

Views: 23

แชร์เลย